ปตท. เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2566 เป็นไปตามแผนธุรกิจ ใช้งบกว่า 20,000 ล้านบาท ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศ OPEC และชาติพันธมิตร จนถึงสิ้นปี 2566 และเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ที่ 104,008 ล้านบาท ลดลง 36,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 140,912 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น
.
ซึ่งมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง เช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีในตลาดที่ใช้อ้างอิง ประกอบกับปริมาณการขายลดลงและต้นทุนค่าเนื้อก๊าซสูงขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยในไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 27,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,063 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 24,792 ล้านบาท
.
ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และประเทศให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 – 2565 ได้ใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาทิ การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น
.
ทั้งนี้ ปตท. เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน ปี 2593 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเปลี่ยน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการ ปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ส่งเสริมอาชีพ และรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี
.
“ปตท. มุ่งมั่นดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สนับสนุนการใช้พลังงานแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ พร้อมศึกษาพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ นำพาประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอรรถพล กล่าวเสริม
.
ปตท. ผนึก JERA นำร่องพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจน และ แอมโมเนีย ในไทย มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions 2050
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการริเริ่มการขยายห่วงโซ่อุปทานและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย
.
โดยมี ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. Toshiro Kudama (โทชิโระ คุดามะ) Senior Managing Executive Officer และ CEO JERA Asia บริษัท JERA Co., Inc. (JERA) ร่วมลงนาม พร้อมทั้งผู้บริหารของทั้งสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งศึกษาแนวทางการพัฒนาธุรกิจ และการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียในรูปแบบต่าง ๆ
.
เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนในอนาคต ตอกย้ำว่า ปตท. พร้อมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน
สานพลัง ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. เปิดตัว สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon
บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผสานความร่วมมือกับ กลุ่ม ปตท. เปิดตัวโครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เฟ้นหาสุดยอดไอเดียนวัตกรรมมุ่งช่วยแก้ปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมจากความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ พร้อมต่อยอดไอเดียไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมแห่งความยั่งยืน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของสังคม จึงได้รวมพลังความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. จัดโครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เพื่อเฟ้นหาและช่วยปั้นสุดยอดไอเดียนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนให้สามารถแก้ไขปัญหาในสังคมได้จริงโดยใช้จุดแข็งของ กลุ่ม ปตท. ในการสร้างโซลูชัน 4 โจทย์หลัก ได้แก่
● Sustainable Cities: การพัฒนาเมืองยั่งยืน
● Good Health & Wellbeing: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
● Local Economic Development: การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
● Environment: สิ่งแวดล้อม และสภาวะโลกร้อน
ระหว่างโครงการผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีโอกาสร่วมเวิร์กชอปการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมในเชิงธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. และองค์กรพันธมิตรชั้นนำระดับประเทศ ร่วมกับไรส์ (RISE) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร มาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดโครงการ ซึ่งหากได้รับคัดเลือกเป็น 4 ทีมสุดท้าย จะมีโอกาสได้รับเงินรางวัลและเงินทุนตั้งต้นในการร่วมกระบวนการทดสอบไอเดียธุรกิจ Proof of Concept (POC) กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อพัฒนาไอเดียให้สามารถออกสู่ตลาดและแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้จริง รวมมูลค่ากว่า 540,000 บาท
สำหรับโครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เปิดรับไอเดียนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ นักศึกษา บุคคลทั่วไป เเละ Startup (ที่ยังไม่จดเป็นนิติบุคคล) ซึ่งผู้ที่สนใจรับฟังรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติม สามารถเข้าร่วม Open House ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. โดยมีผู้บริหารจากบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ร่วมให้ข้อมูล พร้อมชวนรับฟังเสวนาในหัวข้อ Powering Life with Social Innovations จากผู้นำรุ่นใหม่ที่มีบทบาทโดดเด่นด้วยการพัฒนาตามหัวข้อ 4 โจทย์หลัก ได้แก่ ด้านการพัฒนาเมืองจาก Mayday ด้านสิ่งแวดล้อมจาก Refill Station ด้านสุขภาพจาก Younghappy และด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นจาก Roots Incubation Program
โครงการฯ เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ - 26 พฤษภาคม 2566 ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://forms.gle/yMTvnQV5n7ooH1BTA และผู้ที่สนใจเข้าร่วม Open House ในวันที่ 20 พฤษภาคม ลงทะเบียนได้ที่ https://rise-global.typeform.com/to/RNi5WvOx ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมเพิ่มเติมได้ผ่านทาง Facebook : PTT News และ Facebook: สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 66 ลดลง 5.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 74.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเปลี่ยนไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย จากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ทั้งในภาคงบประมาณ การเงิน และการธนาคาร อาทิ
.
วันที่ 4 พ.ค. 66 หุ้น PacWest Bancorp ลดลง 51% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังธนาคารเปิดเผยว่าอาจพิจารณาเพิ่มทุนหรือขายกิจการ, หุ้น Western Alliance Bancorp ลดลง 38% ขณะที่ธนาคารยืนยันสถานะทางการเงินว่ายังไม่ต้องขายกิจการ, หุ้น First Horizon ลดลง 33% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 หลัง Dominion Bank ของแคนาดายุติการเจรจาซื้อกิจการ
ทางด้านนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย. 66
.
ทั้งนี้วันที่ 3 พ.ค. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 5.0-5.25% และจะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 13-14 มิ.ย. 66
คาดว่าราคา ICE Brent ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
.
โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden มีแผนหารือร่วมกับแกนนำรัฐสภา 4 ท่าน ในวันที่ 9 พ.ค. 66 ทั้งฝั่งวุฒิสภา ได้แก่ นาย Chuck Schumer (Democratic Senator - Majority Leader), นาย Mitch McConnell (Senate Republican leader) และฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นาย Kevin McCarthy (Speaker of the House - Republican), และนาย Hakeem Jeffries (House Minority Leader) ในประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณ และขยายเพดานหนี้
.
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
.
• 4 พ.ค. 66 ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate) มาอยู่ที่ 3.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Marginal Lending Facility Rate) มาอยู่ที่ 4%
.
• National Bureau of Statistics (NBS) ของจีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Manager's Index: PMI) ในเดือน เม.ย. 66 จากเดือนก่อนลดลง 2.7 จุด อยู่ที่ 49.2 จุด ลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65
.
• Kpler รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบสู่เอเชียทางทะเลในเดือน เม.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 76,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
.
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
.
• Argus รายงาน OPEC และพันธมิตร (OPEC+) รวม 19 ประเทศ ผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 66 ลดลง 200,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 37.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ข้อตกลงของ OPEC+ อยู่ที่ 40.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
.
• Goldman Sachs ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในปี 2566 จากปีก่อนมาอยู่ที่ +1.6% (จากเดิมที่ +1.4% จากปีก่อน) โดยคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ระดับ 5-5.25% คือระดับสูงสุดในปีนี้ โดย Fed จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก นอกจากนี้ ยังคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
.
• EIA รายงานสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 66 ลดลง 82,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 4.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน